หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) วิศวกรรมเหมืองแร่

  • แผนปกติ
  • แผนสหกิจศึกษา

จุดเด่นของหลักสูตร

หลักสูตรของสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่มีทั้งแผนปกติและแผนสหกิจศึกษา ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถทำงานวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรณีและโครงสร้างใต้ดิน ซึ่งคล้ายกับหลักสูตรในต่างประเทศ เช่น “geo-resource engineering” “earth-resource engineering” และ “geo-environmental engineering” เป็นต้น  กระบวนวิชาในหลักสูตรนอกจากวิชาพื้นฐานด้านวิศวกรรมแล้ว ยังมีวิชาเอกด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ ประกอบด้วยวิชา การทำเหมืองและการออกแบบเหมืองเปิดและเหมืองใต้ดิน  การแต่งแร่และการใช้ประโยชน์จากแร่ การสกัดโลหะและวัสดุจากแร่ การออกแบบโรงงานและอุปกรณ์งานเหมือง  กลศาสตร์ของหินและธรณีเทคนิค  เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรแร่และการประเมินโครงการ  และวิชาความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเหมืองแร่ นอกจากนี้ยังมีวิชาเอกเลือกด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม จำนวน 8 กระบวนวิชา และวิชาเลือกอีกกว่า 30 วิชา เช่น วิชาการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำเมืองแร่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือภาพถ่ายดาวเทียมในงานเหมืองแร่ เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด โลหะวิทยา ธรณีสถิติ  วัตถุระเบิดสำหรับงานวิศวกรรม การบริหารงานเหมืองแร่ อุโมงค์ และวิศวกรรมความลาดชันของหิน เป็นต้น

แนวทางการประกอบวิชาชีพ

นอกจากงานสำรวจ ออกแบบ ผลิต ควบคุมปริมาณและบริหารงานการทำเหมืองในทุกประเภทแล้ว ยังสามารถทำงานเกี่ยวกับโครงสร้างใต้ดิน เช่น งานอุโมงค์ งานเจาะและผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น ซึ่งมีตำแหน่งงานหลากหลายในหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ข้าราชการในตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่ หรือวิศวกรสำรวจแร่ พนักงานรัฐวิสาหกิจในตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่หรือวิศวกรสำรวจแร่  พนักงานในหน่วยงานเอกชนในตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่ วิศวกรโครงการหรือวิศวกรโครงสร้างใต้ดิน  ผู้ประกอบการอิสระในตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่หรือวิศวกรที่ปรึกษาโครงการหรือผู้รับเหมา และวิศวกรปิโตรเลียมในหน่วยงานรัฐและเอกชน

เนื้อหาวิชาของหลักสูตรวิศวกรรมเหมืองแร่

1) วิชาพื้นฐานทางวิศวกรรม คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์  เคมี

2) วิชาเอกด้านวิศวกรรมเหมืองแร่

  • การทำเหมืองและการออกแบบเหมืองเปิดและเหมืองใต้ดิน
  • การแต่งแร่และการใช้ประโยชน์จากแร่
  • การสกัดโลหะและวัสดุจากแร่
  • การออกแบบโรงงานและอุปกรณ์งานเหมือง
  • กลศาสตร์ของหินและธรณีเทคนิค
  • เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรแร่และการประเมินโครงการ
  • ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเหมืองแร่

3) วิชาเอกเลือกด้านปิโตรเลียม

  • คุณสมบัติของหินแหล่งกักเก็บ
  • คุณสมบัติของเหลวในแหล่งกักเก็บ
  • การหยั่งธรณีหลุมเจาะและประเมินโครงสร้าง
  • วิศวกรรมการเจาะ
  • กลศาสตร์ของการผลิตปิโตรเลียม
  • วิศวกรรมแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม 1
  • วิศวกรรมแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม 2
  • การวิเคราะห์และออกแบบหลุมผลิต

Download